ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา


กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตาเป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ พบตามธรรมชาติประมาณ 1,000 ชนิด มากเป็นอันดับสองรองจากกล้วยไม้สกุลหวาย พบกระจายพันธุ์แถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเชีย แถบแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่แกะแปซิฟิก และบางส่วนกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปแอฟริกา สำหรับประเทศไทยพบกระจัดกระจายตามธรรมชาติในทั่วทุกภาคของประเทศประมาณ 140 ชนิด และแต่ละชนิดมักใช้คำว่า "สิงโต" นำหน้า
กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าสกุล "บัลโบฟิลลัม" (Bulbophyllum) ซึ่งมาจากรากศัพท์ในภาษากรีซคือ bulbos แปลว่า "หัว" กับ phyllon แปลว่า "ใบ" หมาถึงลักษณะที่ก้านใบพองคล้ายหัว สำหรับในภาษาไทยที่เรียกกันว่า "สิงโตกลอกตา" นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงเรียบเรียงไว้ในหนังสือ "ตำราเล่นกล้วยไม้" เมื่อปี พ.ศ.2459 เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของกล้วยไม้สกุลเซอร์โรเพตาลัม (Cirrhopetalum) ซึ่งเป็นสกุลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสกุลบัลโบฟิลลัมมาก และในปัจจุบันนี้นักพฤกษศาสตร์ได้จัดรวมไว้ในสกุลบัลโบฟิลลัม ดังนี้
ลูกกล้วยรูปกลมมักเล็กขนาดผลพุทรา บางชนิดเขื่องกว่านั้น แลบางชนิดใบยาวตั้งคืบก็ได้ มีใบลูกกล้วยละ 1 ใบ สีเขียวแก่ด้านๆ ดอกลำพังตัวกลีบนอกสองข้างนั้นใหญ่ยาวเกินส่วน รวบปลายแหลมแลพับเบื้องโคนกลีบทบไปข้างหน้า ปลายกลีบซ้อนกันฤๅมาประสานติดกัน ทำนองห่มสไบคล้องคอ ปากเล็กเกือบแลไม่เห็น แลรังเกสรกระดิกได้เป็นดอกไม้ไหว ซึ่งเป็นเหตุให้เรียกกันในนี้ว่า "สิงโตกลอกตา"
กล้วยไม้สิงโตกลอกตาเป็นกล้วยไม้ที่มีการเติบโตแบบ Sympodial เช่นเดียวกับ กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา มีเหง้าและลำลูกกล้วย ซึ่งต่างกันแล้วแต่ชนิด มีทั้งชนิดที่มีลำลูกกล้วยขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ บางชนิดลำลูกกล้วยตั้งตรง บางชนิดนอนราบไปกับเหง้า มีใบที่ปลายลำลูกกล้วยหนึ่งหรือสองใบแล้วแต่ชนิด มีตั้งแต่ใบเล็กมากจนถึงใบค่อนข้างใหญ่ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกช่อ ก้านช่อดอกเกิดที่ฐานของลำลูกกล้วย บางชนิดเกิดที่ข้อของเหง้า ดอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กมากจนถึงค่อนข้างใหญ่ ลักษณะดอกและสีสันสวยงามแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด
สิงโตพัดแดง

สิงโตพัดแดง

Bulbophyllum lepidum (BI.) J.J. Sm.

เป็นกล้วยไม้ที่ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยของเป็นรูปไข่ยาว 1.5 ซม. ลำลูกกล้วยห่างกันประมาณ 2-3 ซม. ใบรูปหอกกลับ ยาวประมาณ 16 ซม. กว้างประมาณ 3-6 ซม. ช่อดอกแบบซี่ร่ม มีดอก 4-10 ดอก ดอกกว้างประมาณ 1 ซม. สีแดงอ่อนถึงแดงเข้ม กลีบเลี้ยงบนรูปรี ปลายกลีบเรียวแหลม กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมติดกันตั้งแต่ปลายกลีบจนเกือบถึงฐานของกลีบ ขอบของกลีบเลี้ยงมีขนสีม่วง กลีบดอกรูปไข่ถึงรูปไข่แกมหอก ยาวประมาณ 5-6 มม. ปลายกลีบดอกแคบ ขอบเป็นขนสั้นๆ ปากสีน้ำตาลอมเขียวทึบๆ เส้าเกสรสีเขียวอ่อนประด้วยจุดสีม่วง ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม พบตามธรรมชาติในทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร ชัยภูมิ จันทบุรี ตราด ระนอง กระบี่ สตูล และสุราษฎร์ธานี
สิงโตร่มใหญ่

สิงโตร่มใหญ่

Bulbophyllum cirrhopetalum picturatum Lodd. ex Lindl.

ลำลูกกล้วยรูปไข่ ใบรูปขอบขนาน ปลายใบเว้าบุ๋ม ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกแบบซี่ร่มแผ่เป็นรัศมีเกือบกลม 8-10 ดอก ดอกกว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาวประมาณ 3 ซม. กลีบเลี้ยงบนรูปทรงกลม สีม่วงแดง ปลายยาวเป็นหาง กลีบเลี้ยงคู่ข้างเรียวยาว สีเขียวอมเหลือง โคนกลีบมีจุดสีม่วงแดงจำนวนมาก ปลายกลีบบิดตัวเชื่อมติดกัน กลีบดอกรูปไข่ สีม่วงเข้ม ขอบกลีบหยักเป็นฟันจัก ปลายกลีบเรียวแหลม กลีบปากรูปสามเหลี่ยม โคนกลีบมีติ่งรูปครึ่งวงกลมอยู่ทั้งสองข้าง ออกดอกช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
สิงโตก้ามปูแดง

สิงโตก้ามปูแดง

Bulbophyllum patens King ex. Hook. f.

ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยยาว 0.6-2.5 ซม. ลำลูกกล้วยแต่ละลำห่างกันประมาณ 8 ซม. ลำลูกกล้วย 1 ลำมีใบ 1 ใบ ใบรูปขอบขนาน ปลายใบเว้าบุ๋ม มีขนาดยาวประมาณ 14 ซม. กว้าง 4.5 ซม. ดอกเป็นดอกเดี่ยว กว้าง 3 ซม. พื้นดอกเป็นสีเหลืองจางๆ มีจุดเล็กๆ สีม่วงกระจายอย่างหนาแน่นทั่วทั้งดอก จึงดูคล้ายกับว่าดอกมีสีแดงคล้ำ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบเลี้ยงคู่ล่างกางออกจากกันอย่างเด่นชัด และมีขนาดกว้างกว่ากลีบเลี้ยงบน กลีบดอกเล็กกว่ากลีบเลี้ยง กลีบปากรูปแถบอ้วนและหนา มีขนาดเล็กกว่ากลีบอื่นๆ มาก โคนเส้าเกสรยื่นออกมาเชื่อมกับโคนกลีบปาก ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าทางภาคใต้ของไทย เช่น นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส และปัตตานี
สิงโตอาจารย์เต็ม

สิงโตอาจารย์เต็ม

Bulbophyllum smitinandii

กล้วยไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2509 โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.เต็ม สมิตินันท์ นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยรูปไข่ มีใบรูปขอบขนานหนึ่งใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว กว้างประมาณ 4 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลืองเข้ม มีประและขีดสีม่วงแกมแดง กลีบเลี้ยงบนรูปหอก กลีบเลี้ยงข้างเบี้ยวรูปไข่แกมรูสามเหลี่ยม กลีบดอกรูปหอก กลีบปากสีขาวมีแฉกข้าง มีแต้มเป็นพื้นสีม่วงแดงและมีขนสีขาวประปราย ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เป็นกล้วยไม้ที่พบเฉพาะในประเทศไทย บริเวณป่าดิบเขาบนเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทือกเขาใกล้เคียง
สิงโตสยาม

สิงโตสยาม

Bulbophyllum siamense Rchb. f.

เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยรูปไข่ยาว 3-5 ซม. ลำลูกกล้วยห่างกัน 3-8 ซม. มีใบรูปขอบขนานหนึ่งใบ แผ่นใบหนา ยาวประมาณ 25 ซม. กว้าง 7 ซม. ส่วนปลายใบจะกว้างกว่าส่วนโคนใบ ปลายใบป้านค่อนข้างแหลม ออกดอกเดี่ยวตามข้อของเหง้า ก้านดอกยาวประมาณ 10 ซม. ดอกกว้าง 5-7 ซม. ดอกสีเหลือง มีเส้นสีม่วงแดงพาดตามแนวยาวกลีบค่อนข้างถี่โดยไม่มีเส้นขวาง กลีบเลี้ยงบนรูปหอกยาวประมาณ 5 ซม. ปลายแหลม กลีบเลี้ยงคู่ข้างโค้งเป็นรูปตัว S กลีบดอกเบี้ยวรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กลีบปากรูปสามเหลี่ยม ปลายกลีบโค้ง ยาวประมาณ 1 ซม. สีเหลือง มีจุดประสีม่วงแดงกระจาย ออกดอกช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ สิงโตสยามมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบตั้งแต่ อินเดีย (อัสสัม) พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ชวา บอร์เนียว จนถึงฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ เช่นที่จังหวัด เชียงใหม่ ลำปาง น่าน เลย นครราชสีมา นครนายก ชลบุรี ตราด กาญจนบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พังงา ระนอง และสงขลา
สิงโตงาม

สิงโตงาม

Bulbophyllum polystictum Ridl.

ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยมีขนาดใหญ่เป็นรูปไข่ มีใบรูปขอบขนานหนึ่งใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ดอกกว้างประมาณ 7 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงบนรูปหอก ปลายกลีบเรียวแหลมและมีเส้นสีแดง 11 เส้น กลีบเลี้ยงคู่ข้างมีเส้นสีแดง 15 เส้น ระหว่างเส้นมีจุดขนาดเล็กสีแดงเข้มจำนวนมาก กลีบดอกรูปเคียว กลีบปากรูปสามเหลี่ยม ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม พบทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น สงขลา ชุมพร และนครศรีธรรมราช
สิงโตรวงข้าวฟ่าง

สิงโตรวงข้าวฟ่าง

Bullbophyllum crassipes Hook.f.

เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยรูปรี ขอบขนาน ขนาดของใบกว้าง 2 ซม. ยาว 10 ซม. หนาและแข็งปลายใบมน ช่อดอกเป็นช่อกระจะ ออกที่โคนลำ ช่อดอกยาวประมาณ 10 ซม. มีดอกขนาดเล็กจำนวนมากเรียงแน่นรอบแกนช่อ ดอกขนาด 0.5 ซม. พื้นดอกสีเขียวอ่อน มีจุดน้ำตาลแดงหนาแน่น จนดูคล้ายว่าดอกเป็นสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปไข่ ปลายเรียวแหลม กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมกันจนเป็นถุงลึก กลีบดอกรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม กลีบปากรูปรีสีส้มแกมเหลือง โคนกลีบมีหูปากเป็นติ่งขนาดเล็ก ฝาครอบกลุ่มเรณูสีเหลือง มีกลิ่นอ่อนๆ ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พบในป่าดิบเขาแถบประเทศอินเดีย พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยพบที่ พิษณุโลก และทางภาคใต้ของประเทศ
สิงโตรวงข้าว

สิงโตรวงข้าว

Bulbophyllum morphologorum Krzl.

ลำลูกกล้วยรูปไข่ มีใบที่ปลายลำหนึ่งใบ ใบรูปขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อที่โคนลำ ช่อดอกแบบกระจะยาว 15-22 ซม. ปลายช่อโค้งลง ดอกกว้างประมาณ 1 ซม. เรียงอยู่อย่างหนาแน่น ดอกสีครีมจนถึงสีส้ม มีจุดสีน้ำตาลแกมม่วง กลีบเลี้ยงบนรูปขอบขนาน กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปรีเชื่อมติดกัน กลีบดอกรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวยาว ขอบหยักไม่เป็นระเบียบ กลีบปากรูปขอบขนาน ดอกบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม พบตามป่าดิบแล้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และเลย
สิงโตรวงทอง

สิงโตรวงทอง

Bulbophyllum orientale Seident

ลำลูกกล้วยรูปไข่ มีใบรูปขอบขนานหนึ่งใบ แผ่นใบหนาแข็ง ช่อดอกแบบกระจะโค้งลง ช่อดอกยาวประมาณ 10-12 ซม. ดอกกว้างประมาณ 1 ซม. เรียงอยู่อย่างหนาแน่น กลีบมีสีเขียวและมีเส้นสีม่วงแดงเรียงตามความยาวกลีบเป็นระยะ กลีบเลี้ยงคู่ข้างใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงบน กลีบดอกรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ขอบหยักเล็กน้อย กลีบปากสีออกเหลือง ดอกมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ออกดอกช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน เป็นพืชถิ่นเดียว พบเฉพาะในประเทศไทยที่จังหวัดพิษณุโลก เลย และชัยภูมิ
สิงโตตาแดง

สิงโตตาแดง

Bulbophyllum muscarirubrum Seidenf.

กล้วยไม้อิงอาศัยขนาดเล็ก ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยแบน มี 2 ใบ ใบรูปขอบขนานของใบ กว้าง 3 ซม.ยาว 12 ซม. ช่อดอกเป็นช่อกระจะห้อยลง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 20 ดอก ดอกขนาด 0.5 ซม. สีชมพูถึงม่วงเข้ม มีจำนวนมากเรียงเวียนสลับรอบแกนค่อนข้างแน่น กลีบเลี้ยงบนรูปรี กลีบเลี้ยงคู่ข้างมีขนาดใหญ่กว่า และขอบกลีบด้านในเชื่อมติดกัน กลีบดอกรูปสามเหลี่ยม กลีบปากเกือบเป็นรูปกรวย มีสีเข้มกว่ากลีบเลี้ยงและกลีบดอก ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และผลัดใบ เป็นพืชถิ่นเดียวพบเฉพาะในประเทศไทย ในป่าเต็งรังที่มีความสูง 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่จังหวัดเชียงใหม่และกาญจนบุรี
สิงโตแดง

สิงโตแดง

Bulbophyllum alcicorne Par. & Rchb.f.

เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยขนาดเล็ก มักพบในป่าสนบนเขาสูง ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยลดรูปเหลือเพียงปมขนาดเล็กที่โคนใบ ในช่วงที่ผลัดใบจะเห็นได้เด่นชัด โดยมีลักษณะคล้ายกระดุมติดอยู่บนเหง้าทอดเลื้อยที่มีขนาดใหญ่ ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ดอกออกจากเหง้า ตั้งตรงและปลายช่อดอกโค้งลง ช่อดอกแบบกระจะ มีดอกขนาดเล็กหลายดอก ดอกกว้างประมาณ 0.4 ซม. กลีบมีสีแดงค่อนข้างใส กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมกันที่โคน กลีบดอกรูปไข่จนถึงรูปขอบขนาน ปลายกลีบมีแต้มสีม่วงแดง กลีบปากรูปไข่กลับ สีเหลือง ปลายเส้าเกสรมีรยางค์ที่มีแขนง ดอกมีกลิ่นเหม็น ออกดอกในช่วงฤดูหนาวช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ในประเทศไทยพบในหลายภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ระนอง และพังงา นอกจากไทยแล้วยังพบในพม่าและมาเลเซีย
สิงโตนกเหยี่ยวใหญ่

สิงโตนกเหยี่ยวใหญ่

Bulbophyllum Mastigion putidum (Teijsm. & Binn.) Garay, Hamer & Siegerist

เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยรูปไข่ ใบรูปขอบขนานนึ่งใบ ขนาดกว้าง 2 ซม. ยาว 7-11 ซม. ดอกออกที่ลำลูกกล้วยเป็นดอกเดี่ยว กว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาวประมาณ 16-18 ซม. กลีบเลี้ยงบนรูปไข่ มีเส้นสีม่วงแดงตามแนวยาวเป็นระยะ ขอบมีขนเป็นครุยสีม่วงแดง กลีบเลี้ยงคู่ข้างทั้งสองข้างบิดตัวเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว โคนกลีบโป่งพองออก ปลายกลีบเรียวแหลม กลีบดอกรูปสามเหลี่ยม ด้านข้างเป็นครุยสีม่วงแดง มีเดือยเป็นตุ่มขนาดเล็กสีม่วงแดงหนาแน่น กลีบปากสีแดงมีขนาดเล็กแผ่เป็นแผ่นรูปแถบแกมรูปสามเหลี่ยม มีสันนูนตรงกลาง 2 สัน พบตามป่าดิบทางภาคใต้ ออกดอกเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
สิงโตนกเหยี่ยวเล็ก

สิงโตนกเหยี่ยวเล็ก

Bulbophyllum mastigion fasinator (Rolfe) Garay. Hamer & Slegerist

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยรูปไข่ มีใบรูปขอบขนานหนึ่งใบ ดอกออกที่โคนลำ เป็นดอกเดี่ยว ดอกกว้างประมาณ 2-3 ซม. ยาวประมาณ 16 ซม. กลีบสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมเหลือง มีเส้นสีน้ำตาลอมม่วงตามความยาวกลีบ กลีบเลี้ยงคู่ข้างยาวมากและเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงบนรูปไข่ ปลายกลีบแหลมมีรยางค์และและพู่ยื่นยาวจำนวนมาก กลีบดอกรูปแถบ ปลายกลีบแหลมมีรยางค์และและพู่ยื่นยาวจำนวนมาก กลีบปากรูปสามเหลี่ยมอวบอ้วน และโค้งลง สีม่วงแดง เส้าเกสรสั้น ฐานเส้าเกสรยาวมาก ออกดอกช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สิงโตสมอหิน

สิงโตสมอหิน

Bulbophyllum blepharister Rchb. f.

มีลำลูกกล้วยค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม มีสองใบ ใบหนาแข็ง สีเขียวแกมน้ำตาล รูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายใบเว้าบุ๋ม ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ช่อดอกแบบกระจุกเรียงในแนวรัศมี มี 5-10 ดอก ดอกกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 3-4 ซม. สีเขียวอมเหลือง มีเส้นสีม่วงแดงหลายเส้นตามความยาวกลีบ กลีบเลี้ยงบนรูปหอก ปลายกลีบแหลม กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมติดกันเป็นรูปไข่ กลีบดอกรูปทรงกลม ปลายกลีบเว้าบุ๋มและมีขนยาวสีแดง กลีบปากรูปขอบขนาน ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน พบในแถบจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เลย พิษณุโลก และระนอง
สิงโตใบพาย

สิงโตใบพาย

Bulbophyllum wallichii Rchb. f.

ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยรูปไข่ มีใบรูปขอบขนานสองใบ ออกดอกเป็นช่อจากโคนหัว ก้านช่อดอกยาว 7-15 ซม. ช่อดอกแบบกระจะ มีดอก 5-10 ดอก ปลายช่อดอกโค้งงอลง ดอกกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 4 ซม. ดอกสีส้ม กลีบเลี้ยงบนมีขนาดเล็ก รูปไข่แกมรูปชอบขนาน ปลายกลีบเรียวแหลม ผิวด้านในมีขนสั้นๆ ปกคลุม กลีบเลี้ยงคู่ข้างยาว บิดตัวเชื่อมติดกันทางครึ่งปลายรูปร้าคล้ายใบพาย กลีบดอกรูปไข่ ปลายกลีบเรียวยาว ผิวด้านในมีขนปกคลุม ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ พบมากในป่าดิบแล้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก และเลย
สิงโตลินด์เลย์

สิงโตลินด์เลย์

Bulbophyllum lindleyanum Griff.

ลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยเกือบกลม มีใบรูปขอบขนานหนึ่งใบ ออกดอกเป็นช่อโปร่งโค้ง ช่อดอกแบบกระจะ ยาวประมาณ 18-25 ซม. มีดอกจำนวนมาก ดอกกว้างประมาณ 1 ซม. ดอกสีครีมมีเส้นสีม่วงตามความยาวกลีบเป็นระยะ ที่ขอบกลีบมีขน กลีบเลี้ยงบนรูปไข่ กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปสามเหลี่ยม ปลายกลีบเลี้ยงทั้งสามมีสีม่วงเข้ม กลีบปากรูปแถบหนา ปลายกลีบโค้งลง ด้านบนกลีบเรียบ ด้านล่างกลีบมีขนปกคลุม ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม พบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

กล้วยไม้สกุลแคทรียา

คัทลียา                           :             Cattleya                                            ชื่อวิทยาศาสตร์            :             Cattleya hybrids.                                       วงค์                     ...

สกุลกล้วยไม้

ในประเทศไทย นอกจากกล้วยไม้ชนิดพันธุ์ตามที่พบในธรรมชาติอย่างมากมายแล้ว ยังมีพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ มีความแปลก สวยงามเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ใหม่นี้ จะมีจำนวนมาก และไม่มีขีดจำกัด ทำให้กล้วยไม้ของไทยเป็นที่รู้จัก เป็นที่สนใจ และชื่นชอบต่อคนทั่วไป กล้วยไม้สกุลต่างๆ ที่พบในประเทศไทยได้แก่ สกุลอะแคมเป ( Acampe ) [1] สกุลกุหลาบ  ( Aerides ) สกุลแมลงปอ ( Arachnis ) [1] สกุลเข็ม  ( Ascocentrum ) สกุลสิงโตกลอกตา  ( Bulbophyllum ) สกุลเอื้องน้ำต้น หรือคาแลนเธ ( Calanthe ) สกุลคัทลียา  ( Cattleya & allied genera ) ประกอบด้วยสกุลย่อย 8 สกุลคือ บราสซาโวลา ( Brassavola ) บรอว์กโทเนีย ( Broughtonia ) คัทลียา ( Cattleya ) ไดอาคริอัม ( Diacrium ) อีปิเดนดรัม ( Epidendrum ) ลีเลีย ( Laelia ) ซอมเบอร์เกีย ( Schomburgkia ) โซโพรนิติส ( Sophronitis ) สกุลเอื้องใบหมาก หรือซีโลจิเน ( Coelogyne ) สกุลกะเรกะร่อน หรือซิมบิเดียม ( Cymbidlium ) สกุลหวาย  ( Dendrobium ) สกุลม้าวิ่ง  ( Doritis ) สกุลเพชรหึง หรือแกรมมาโตฟิลลัม ( Grammatophyllum )...

กล้วยไม้สกุลกุหลาบ

กุหลาบอินทจักร (Aerides flabellata) ลักษณะใบเรียงตัวซ้อนกันค่อนข้างแน่น แผ่นใบหนาและเหนียว ผิวใบแห้ง กุหลาบอินทจักรเป็นเอื้องกุหลาบช่อตั้ง ดอกในช่อโปร่ง มีเดืือยดอกยาวเห็นได้ชัดและโค้งงอนสวยงาม กลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีสีเขียวอมเหลืองและมีแต้มสีน้ำตาลอมม่วง ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม กุหลาบพวงชมพู (Aerides krabiensis) หรือกุหลาบกระบี่ พบครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงเกาะต่างๆ ทางภาคใต้ของไทย ต้นค่อนข้างผอมมักแตกเป็นกอ แผ่นใบเล็กค่อนข้างหนาและเรียงซ้อนกันถี่ ผิวใบมักจะมีจุดประสีม่วงแดง ช่อปลายปากกว้างมน ดอกมีพื้นขาว มีจุดประสีม่วงแดง หรือชมพูเข้ม กลางแผ่นปากมีสีแดงเข้มคล้ายกุหลาบมาลัยแดง ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม กุหลาบเอราวัณหรือกุหลาบน่าน (Aerides rosea ชื่อพ้อง Aerides fieldingii) ลักษณะดอกคล้ายมาลัยแดงมาก ช่อดอกมีก้านส่งแข็ง แต่ส่วนช่อที่ติดดอกจะโค้งห้อยลง กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีม่วงแดง ที่ปลายกลีบมีจุดสีม่วงแดงประปราย ปากสีม่วงแดง ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน กุหลาบแดง (Aerides crassifolia) เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะสวยงาม มีใบสั้นแบนแต่หนา ...